วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

เวลามาตรฐาน ( Standard Time )

 

      ถ้าทุกแห่งใช้เวลาท้องถิ่น จะเกิดความสับสนสำหรับผู้ที่ท้องเที่ยวจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งและสำหรับกิจการอื่นๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งรับวิทยุโทรทัศน์และการสื่อสาร
         ประเทศอังกฤษทั้งประเทศใช้เวลาของเมริเดียนกรีนิช ประเทศฝรั่งเศสแต่ก่อนเคยใช้เวลาของเมริ-เดียนปารีส แต่ได้เปลี่ยนมาใช้เวลาของกรีนิชตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑)
          สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นการยากที่จะใช้เวลาเดียวกันทั้งประเทศจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกดวงอาทิตย์ขึ้นที่ซานฟรานซิสโก (Sanfrancisco) ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาประมาณ ๔ ชั่วโมง ภายหลังที่ขึ้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือในรัฐเมน (Maine)
          เวลามาตรฐานที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดานับจากเวลากรีนิชเป็นหลักพื้นที่ต่างๆ ใช้เวลาแตกต่างกันเป็นจำนวนชั่วโมงเต็มๆ ให้เมริเดียนกลางของแถบภูมิประเทศ ๒ ข้างเป็นแถบกำหนดเวลามาตรฐานเช่น เมริเดียนกลาง ๗๕ องศา จากกรีนิช ๙๐ องศา ๑๐๕ องศาและ ๑๒๐ องศา  จากกรีนิช โดยทั่วไปให้ภูมิประเทศ ๒ ข้างของแถบเมริเดียนกลางใช้เวลาเดียวกัน  มีพิเศษอยู่บางตอนเพื่อความเหมาะสมกับการแบ่งเขตของรัฐ
         ในประเทศไทยเราใช้เวลามาตรฐานของลองจิจูด๑๐๕ degree หรือ ๗ ชั่วโมง ต่างกันกับเวลากรีนิช ที่กรุงเทพมหานคร เวลาท้องถิ่นกับเวลามาตรฐานต่างกันประมาณ ๑๘ นาที กล่าวคือ เวลามาตรฐานของกรุงเทพมหานคร เร็วขึ้นหน้าเวลาจริงของท้องถิ่นประมาณ ๑๘ นาที
        เวลาเร็วขึ้นหรือช้าลงทุกๆ ๑๕ องศาลองจิจูดก็มีการเปลี่ยน ๒๔ ชั่วโมง เมื่อเราเดินทางไปรอบโลก โดยที่วันหนึ่งมีเพียง ๒๔ ชั่งโมง ก็ต้องมีทางแก้ไขไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่า ๒๔ ชั่วโมงนับตั้งแต่ต้น ถ้าไม่ทำเช่นนั้น วันตามปฏิทินในตำบลต่างๆ ของโลกก็จะสับสนกันมาก การแก้ไขปัญหานี้ได้มีการกำหนดเริ่มต้นของวันปฏิทินที่เส้นซึ่งเลือกขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เส้นนี้มีชื่อว่า เส้นวันสากล (international date line)
        เส้นวันสากลไปตามเมริเดียน ๑๘๐ องศา ครึ่งหนึ่งของรอบโลกของกรีนิช มีเบี่ยงเบนไปบ้างบางแห่งกำหนดให้รอบๆ เกาะอาลิวเชียน (Aleutian) นับเวลาเหมือนกับทางอะแลสกา (Alaska) และเกาะในทะเลใต้บางเกาะเหมือนกับออสเตรเลีย เมื่อเดินทางไปทางตะวันตกผ่านถึงเส้นนี้ ทิ้งวันตามปฏิทินออกไป ๑ วันและตรงกันข้าม เมื่อเดินทางไปทางตะวันออกถึงเส้นวันสากล  ต้องซ้ำวันตามปฏิทินวันเดียวกันนั้นอีก
การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย 
              พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัฐกาลที่ 6 ได้มีพระราชโองการกำหนดเวลามาตรฐานสำหรับประเทศไทยโดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตรา ซึ่งได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 36 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2462 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2463 (วันขึ้นปีใหม่ในขณะนั้น) ให้ “เวลาอัตราสำหรับกรุงสยามทั่วพระราชอาณาจักรเป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลากรีนีชในเมืองอังกฤษ”
ความริเริ่มเกี่ยวกับเวลามาตรฐานประจำถิ่นเริ่มมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เพื่อขจัดความสับสนเนื่องจากการจับเวลาตามแสงอาทิตย์ การกำหนดเวลามาตรฐานท้องถิ่นจึงจำเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเดินรถไฟขึ้น ในปี พ.ศ. 2383 ได้มีการใช้เวลามาตรฐานครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยทั้งประเทศใช้เวลามาตรฐานที่เมืองกรีนีช (Greenwich) ต่อมา เซอร์ แซนฟอร์ด เฟรมมิง นักวางแผน และวิศวกรรถไฟชาวแคนาดา ได้เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่มีการใช้เวลามาตรฐานไปทั่วโลก
                    การใช้เวลามาตรฐาน (Standard Time) ของแต่ละประเทศ โดยเทียบกับเวลามาตรฐานโลก (Universal Time Co-ordinated หรือ UTC) นั้นใช้กฎเกณฑ์พื้นฐานที่ได้จากการประชุมนานาชาติ International Prime Meridian Conference ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 โดยมี 25 ประเทศเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้มีข้อตกลงให้ แบ่งโลกตามแนวเส้นแวงออกเป็น 24 โซนเท่าๆ กัน แต่ละโซนมีค่า 15 องศา ทั้งในทางทิศตะวันตกและตะวันออก และมีค่าเท่ากับ 1 ชั่วโมงห่างจากโซนที่ติดกัน และเส้น 0 องศาจะผ่านที่เมืองกรีนีช (Greenwich) ประเทศอังกฤษ โดยมีเส้นแบ่งวัน (International Date Line) อยู่ที่ 180 องศา ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ได้รับเอาแนวคิดนี้ โดยใช้เส้นแวงที่แบ่งประเทศออกเป็นสองส่วนเป็นตัวกำหนดเวลาว่า เวลามาตรฐานประจำถิ่น เร็วกว่าหรือช้ากว่าเวลามาตรฐานโลก ที่เมืองกรีนีช ประเทศอังกฤษ เท่าไร แต่อย่างไรก็ดีก็มีการกำหนดเวลาท้องถิ่น และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของประเทศต่างๆ ทั้งนี้สิทธิการกำหนดเวลามาตรฐานประจำถิ่นยังเป็นของประเทศนั้นๆ อยู่ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น